วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2551

การเมืองอเมริกา : การเมืองไทย

สหรัฐอเมริกา กำลังอยู่ในช่วงการแข่งขัน เพื่อแย่งชิงตำแหน่งตัวแทนของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค
คือ พรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน ในการแข่งขันเพื่อดำรงตำแหน่งหัวหน้าตำรวจโลก
...ตำแหน่ง “ประธานาธิบดีสหรัฐฯ” ... ที่กำหนดเลือกตั้งกันใน วันที่ 4 พฤศจิกายน 2008

ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงของนักการเมืองสหรัฐฯ ในบางครั้งก็เหมือนกับ นักการเมืองในประเทศอื่นๆ
ที่มีการสาดใส่ป้ายสีในเรื่องส่วนตัว แต่ประเด็นที่น่าสนใจและผู้สมัครแต่ละคนนำมาพูดถึง มักจะเป็นการ
นำเสนอเรื่องนโยบายการบริหารประเทศเป็นด้านหลัก ในช่วงนี้ ตัวแทนของผู้สมัครจากทั้งสองพรรค
กำลังโจมตีกันในเรื่อง ประสบการณ์ด้านต่างประเทศ และ นโยบายทางด้านความมั่นคง ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักที่ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ทุกยุคทุกสมัยต่างก็ให้ความสำคัญ และนโยบายต่างๆ เหล่านี้ ก็จะมีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ทั้งที่เป็นพันธมิตร และปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯ ด้วย

ประเด็นต่างๆ ที่นักการเมืองสหรัฐฯ นำมากล่าวโจมตีกัน อาทิ
นายจอห์น แมคเคน ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ได้เป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกัน ในการลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวหาเสียงโจมตีนายบารัก โอบามา ผู้สมัครชิงเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ว่า ไร้ประสบการณ์ด้านความมั่นคงระดับชาติ โดยอาศัยประเด็นเรื่องการถอนทหารในอิรัคเป็นประเด็นหลัก นอกจากนั้น แมคเคน ยังโชว์ความเหนือชั้นกว่า จากการเป็นนักการทหาร และเคยร่วมรบในสงครามเวียดนาม ด้วยการเดินทางไปเยี่ยมค่ายทหาร ในตะวันออกกลาง
หรือแม้แต่ นางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ที่ถูกโจมตีจากผู้สมัครรายอื่น (นายโอบามาฯ )ว่า อ่อนด้อยประสบการณ์ ด้านต่างประเทศ จนเธอต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เธอเคยถูกลอบยิงด้วยปืนระยะไกลระหว่างเยือนบอสเนียในช่วงต้นศตวรรษ 1990 ซึ่งถือเป็นการเรียกร้องคะแนนความสนใจว่า เธอมีประสบการณ์ในด้านต่างประเทศ และเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ แต่การกล่าวอ้างดังกล่าว มีการขุดคุ้ยหลักฐานต่างๆ มาหักล้าง จนกระทั่ง เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (25 มี.ค.51) เธอได้ออกมายอมรับว่า คำกล่าวอ่างดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผิดพลาดเธอเพียงแต่จำผิดเท่านั้น

การเมืองสหรัฐฯ ยังคงแข่งขันกันต่อไป และเราจะรู้แน่ชัดว่า ใครจะดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ ก็คงล่วงเลยไปจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกยน 2008 หลังวันนับคะแนนอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อแน่ว่า
ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสรัฐฯ ผลกระทบหรือส่วนได้ส่วนเสีย อันจะมีต่อประเทศไทย ที่จะมาจากตัวบุคคล คงมีไม่มากนัก แต่ผลกระทบในห้วงปัจจุบัน และระยะยาวที่จะมีต่อไทย คงจะมาจาก สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก เป็นด้านหลัก

การเมืองไทย สถานการณ์ประเทศไทย ยังร้อนแรง และ ต้องจับตาด้วยความเป็นห่วง การสาดใส่ ให้ร้าย
ต่อกัน ยังคงเป็นเรื่องปกติ แต่ที่แตกต่าง กับการเมืองประเทศอื่นนั้น คือ นักการเมืองบ้านเรา ไม่เคยออกมายอมรับในความผิดพลาดของตนเอง ยังคงเอาดีใส่ตัว ให้ร้ายต่อคนอื่น

กลางกระแสวิกฤตของประเทศไทย หลายคนอาจหวั่นวิตก เพราะมีหลากหลายปัจจัยให้เป็นห่วง ทั้งเรื่องสถานการณ์การเมืองที่ง่อนแง่น และการเผชิญหน้า ที่ส่อเค้าความรุนแรง ยังมีภาวะเศรษฐกิจที่กดดัน
ทุกภาคส่วน ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นตลอดเวลา

คงต้องช่วยกันปรับ ช่วยกันแก้ต่อไป โดยเฉพาะคงต้องเริ่มที่ตัวเราแต่ละคนก่อน ในส่วนที่เราเกี่ยวข้อง ในท้ายที่สุดสิ่งต่างๆ จะเข้าที่เข้าทาง คลี่คลายไปในทิศทางที่ดี
“ทุกสิ่งทุกอย่าง ดำเนินไปในเส้นทางของมัน ที่ควรจะเป็น”

เริ่มต้น/แนะนำตัว

ในเวลาแต่ละวันของคนเรา ผ่านเรื่องราวหลากหลาย
บางเรื่อง เก็บไว้กับตัวเรา (คนเดียว)
บางเรื่องต้องการแบ่งปัน
บล็อกนี้ ทำขึ้นเพื่อ บอกเล่า หลากหลายเรื่องราว ไม่จำกัด ไว้ที่เรื่องใด เรื่องหนึ่ง
อาจจะเป็นเรื่องราวการเดินทาง เรื่องสังคมประเทศไทย หรือ สังคมโลก
รวมทั้ง ประเด็นปัญหาด้าน เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ
นอกเหนือไปกว่านั้น ผู้จัดทำบล็อก พร้อมยอมรับทุกความคิดเห็น
เพื่อปรับปรุงไปสู่ เรื่องราวที่ดี มีคุณค่า สร้างสรรค์ สิ่งต่างๆ ร่วมกัน ต่อไป
mr.s